พลังใจ
พระพุทธเจ้าได้สอนพุทธศาสนิกชนเสมอๆว่า ธรรมทั้งหลาย มีใจถึงก่อน สำเร็จแล้วด้วยใจ หากใจไม่ดี การทำและการพูดก็ไม่ดีตามไปด้วย เหมือนล้อเกวียนที่หมุนไปตามรอยเท้าโค หากใจดี การทำก็ดี การพูดก็ดี ย่อมดีตามไปด้วย เหมือนเงาตามตัวเจ้าของเงา
พุทธศาสนิกชนชาวไทย มีหัวใจใกล้ชิดพระพุทธศาสนา เข้าใจและเข้าถึงหลักธรรมข้อนี้ของพระพุทธเจ้าได้ดี เวลากล่าวถึงความสำคัญของใจ จึงใช้คำเพียงสั้นๆกะทัดรัดเข้าใจง่ายได้ความครบถ้วนนำไปใช้ได้ทันทีว่า ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว
เมื่อใจมีความสำคัญมากที่สุดในชีวิต เพราะทำหน้าที่เป็นผู้นำในกิจกรรมทั้งปวงที่จะทำให้ชีวิตเจริญขึ้นหรือเสื่อมลงเพราะพุทธเจ้าจึงทรงแนะนำให้พุทธศาสนิกชนได้ฝึกจิตโดยเน้นว่า การฝึกจิตเป็นความดี และทรงรับรองผลไว้ด้วยว่า จิตที่ฝึกดีแล้วนำความสุขมาให้
พุทธศาสนิกชนทั้งหลายเรียกวิธีฝึกจิตด้วยความคุ้นเคยว่า การเจริญสติ การเจริญสมาธิ และการเจริญภาวนา คำเหล่านี้ล้วนหมายถึงการฝึกจิตทั้งสิ้น การฝึกจิตเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาเพราะการทำจิตให้ขาวรอบเป็นหนึ่งในโอวาทปาฏิโมกข์ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า การไม่ทำชั่วทั้งปวง การทำความดีให้ถึงพร้อมและทำจิตให้ขาวรอบ
ผู้มุ่งมั่นในการฝึกจิต คือ ผู้เดินเข้าสู่หัวใจของพระพุทธศาสนาเพราะขณะที่ ยืน เดิน หรือ นั่งฝึกจิต ย่อมเป็นเวลาที่ ไม่มีการทำความชั่วทั้งปวง ทำความดีให้ถึงพร้อม และการทำจิตให้ขาวรอบ
หลักใหญ่ที่ชาวพุทธทั่วโลกนำมาใช้นำทางในการฝึกจิตคือ หลักอานาปานสติ ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมที่วางไว้ทุกลมหายใจออกเข้าและสติปัฏฐานสี่ คือการตั้งสติเฝ้าตามดู ตามรู้และตามเห็น กาย เวทนา จิต และ ธรรม
ผู้มุ่งมั่นฝึกจิตได้ดีต้องมีพลังใจตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนในหมวดธรรมที่เรียกว่า พละ 5 ได้แก่
1. สัทธา แปลว่า ความเชื่อ คือ เชื่อในธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ เชื่อในกรรม คือการกระทำทางกายวาจาและใจ เชื่อผลของกรรมที่ทำอย่างไรได้อย่างนั้น เชื่อว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตนจะต้องได้รับผลที่ทำไว้อย่างครบถ้วนไม่ว่าจะเป็นผลดีหรือผลชั่ว
2. วิริยะ แปลว่า ความเพียร คือความพยายามในการละความไม่ดีในชีวิตแม้น้อยนิด เพียรระวังมิให้ความไม่ดีที่ละแล้วนั้นเกิดขึ้นอีก เพียรสะสมความดีและเพียรรักษาความดี การฝึกจิตต้องใช้ความเพียรสูง เป็นความเพียรชนิดพิเศษ คือ ความเพียรเครื่องเผากิเลส
3. สติ ความความระลึกได้ เป็นแหล่งกำเนิดสำคัญแห่งความรู้ สติเป็นธรรมสำคัญในการกำหนดรู้อารมณ์ที่มากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ หากกำหนดรู้ได้ละเอียด กระทบแล้วจบ ไม่ปรุงแต่ง การกระทบแล้วจบนี้ เป็นขณะแห่งชีวิตที่วิเศษที่สุด การยืน เดิน นั่ง แม้แต่ขณะที่นอน ถ้าได้กำหนดรู้อยู่เสมอ ให้การรับรู้เป็นเพียงการรับรู้ ไม่ปรุงแต่งวนเวียน ดู รู้ เห็น แล้ว ปล่อยผ่านพ้นไป ไม่เก็บ ไม่ยึดถือให้หนัก การกำหนดอารมณ์ด้วยสติเพื่อรักษาความปลอดภัยให้จิตนี้ทำได้ในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ ดั่งที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า สติจำปรารถนาในที่ทั้งปวง คือ ต้องกำหนดรู้ในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ
4. สมาธิ คือ ความตั้งใจมั่นในอารมณ์คือสิ่งที่จิตกำหนดรู้เช่นกำหนดรู้ความเคลื่อนไหวของของกายทั้งปวง กำหนด การเกิดดับของความคิดต่างๆที่ผ่านมาแล้วผ่านไป ลักษณะเด่นของสมาธิจิต คือ มั่นคงไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์ที่มากระทบแต่รู้ตัวทั่วพร้อมแล้วปล่อยผ่านไป มีความบริสุทธิ์คือไม่มีสิ่งกวนใจอันประกอบไปด้วย ความรัก ความชัง ความฟุ้งซ่าน ความซึมเซาง่วงเหงาไม่สดชื่นและความสับสน มีแต่ความสดใส รู้ตื่นเบิกบาน มีความอ่อนโยนพร้อมที่จะทำงานทั้งกายและจิตให้มีประสิทธิภาพ
5. ปัญญา ความรู้รอบ ในเรื่องชีวิตอันประกอบด้วยรูปและนามปัญญาเกิดได้สามทางคือ สุตมยปัญญา ปัญญา เกิดจากการฟัง จินตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากการคิด ภาวนามยปัญญาปัญญาเกิดจากการภาวนา แหล่งปัญญาทั้งสามแหล่งนี้เป็นที่มาแห่งการรู้แจ้งได้ทั้งนั้น พระอริยเจ้าในยุคพุทธกาลทั้งชายหญิงล้วนเข้าถึงปัญญาจากแหล่งทั้งสามนี้ตามบารมีที่ได้สะสมมาเช่นพระมหาโมคคัลลานะสำเร็จพระอรหันต์ขณะที่ภาวนาแต่พระสารีบุตรสำเร็จพระอรหันต์ขณะที่ถวายงานพัดพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ผู้ทรงกำลังแสดงธรรมแก่พราหมณ์คนหนึ่งชื่อทีฆนขะภิกษุณีกีสาโคตมีพิจารณาไฟระยิบระยับจากเปลวเทียนแล้วสำเร็จพระอรหันต์การสำเร็จพระอรหันต์ คือการเข้าถึงปัญญาอันสูงส่ง โดยวิถีแห่งสุตมยปัญญา จินตมยปัญญา และภาวนมยปัญญานี้ เส้นทางสายนี้ยังเปิดรับผู้ต้องการเข้าถึงปัญญาเพื่อนำมาดับเพลิงกิเลสและเพลิงทุกข์สิ้นเชิงอยู่เสมอ
หลักธรรมเพื่อการเพิ่มพลังใจให้แก่ชีวิตนี้มิได้มีไว้สำหรับการฝึกจิตเพียงอย่างเดียวแต่พุทธศาสนิกชนผู้ประจักษ์ในพระธรรมคุณข้อนี้พึงนำไปประยุกต์ใช้ได้ในกิจการงานต่างๆตามความเหมาะสม ขอผลแห่งการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมคือ ความสำเร็จ สงบสุข ร่มเย็นในร่มธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จงบังเกิดขึ้นแก่ท่านสาธุชนทั้งหลายโดยทั่วหน้ากันเทอญ
วัดพุทธปัญญา เมืองโมโมน่า รัฐแคลิฟอร์เนีย
วันที่ 11 กรกฎาคม 2559 เวลา 6.30 น.